คลื่นกระแทก (Shock wave) คืออะไร
Shock wave คือ เทคโนโลยีใหม่ทางกายภาพบำบัด โดยใช้คุณสมบัติทางฟิสิกส์ของคลื่นกระแทกที่เกิดจากการอัดของอากาศ ส่งผ่านพลังไปยังบริเวณกล้ามเนื้อที่ตึงตัว กระตุ้นให้เนื้อเยื่อเกิดการบาดเจ็บใหม่ (Re-injury) หลังจากนั้นร่างกายจะเกิดกระบวนการซ่อมแซม และสร้างเนื้อเยื่อขึ้นใหม่ (Re-healing) จึงช่วยให้อาการปวดลดลง และกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น การทำ Shock wave แต่ละครั้งจะใช้จำนวนนัดยิงประมาณ 2,000-3,000 นัด
ประโยชน์ของการรักษาด้วย Shock wave
ประโยชน์ของการรักษาอาการปวดด้วยเครื่อง Shock wave มีมากมาย คลื่นกระแทกสามารถส่งพลังงานผ่านผิวหนังลงลึกเข้ากล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้ประมาณ 3-4 เซนติเมตร ทำให้เกิดผลทางชีวภาพในเนื้อเยื่อดังต่อไปนี้
- กระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
- กระตุ้นให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่
- กระตุ้นการไหลเวียนเลือด
- กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
- ยับยั้งกระบวนการอักเสบ
- ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ และจุดกดเจ็บเกิดการผ่อนคลาย
- ช่วยสลายหินปูนในเส้นเอ็น
- กระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการบาดเจ็บใหม่ และเกิดกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นใหม่
อาการที่เหมาะกับการรักษาด้วย Shock wave
- อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง
- อาการของ office syndrome
- อาการปวดคอ บ่า ไหล่
- อาการปวดหลัง
- อาการปวดสะโพก
- อาการปวดส้นเท้า โรครองช้ำ
- เส้นเอ็นอักเสบ
- อาการปวดข้อศอก ข้อมือ
การดูแลตัวเองหลังการทำ Shock wave
หลังเข้ารับการรักษาด้วย Shock wave ในบริเวณที่รักษาอาจมีอาการปวดระบมได้ เนื่องจากแรงกระตุ้นของคลื่นกระแทก โดยอาจมีอาการ 1-2 วัน หลังจากนั้น อาการปวด หรือความตึงตัวของกล้ามเนื้อจะลดลง โดยสามารถลดการระบมของกล้ามเนื้อได้โดยควรพักการใช้งานหนัก หรือการออกกำลังกายบริเวณที่ได้รับการรักษา 1-2 วัน ยืดกล้ามเนื้อเบาๆ หลีกเลี่ยงการนวด เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบมากยิ่งขึ้น
ผลลัพธ์ และระยะเวลาการรักษา
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดน้อยหรือเพิ่งเริ่มมีอาการ การใช้ Shock wave จะเห็นผลทันทีหลังรักษา ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปวดมาก พบว่าอาการปวดลดลงได้ 50% การรักษาด้วยคลื่นกระแทกควรเว้นระยะห่างของการรักษา 5-7 วัน เพื่อให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่อก่อนที่จะเริ่มการรักษาครั้งถัดไป โดยการรักษาด้วย shock wave สามารถทำควบคู่ไปกับการรักษาทางกายภาพบำบัดชนิดอื่นได้ เช่น อัลตราซาวนด์ หรือ เลเซอร์ ซึ่งจะส่งเสริมให้การรักษาดียิ่งขึ้น จำนวนครั้งที่ใช้ในการรักษา จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บของผู้ป่วย โดยประมาณ 3-5 ครั้ง