การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก Bone Mineral Density-BMD เป็นการตรวจหาค่าความหนาแน่นของกระดูกตามส่วนต่าง ๆ ช่วยให้ทราบว่าสุขภาพของกระดูกมีความแข็งแรงระดับใด และมีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
รายการตรวจการทำงานของกระดูก
- P1NP (Procollagen 1 Intact N-Terminal Propeptide)
- β – CrossLaps
- Osteocalcin (N-MID)
- Parathyroid hormone (PTH)
- Vitamin D (Total 25-Hydroxyvitamin D)
**ควรตรวจ Vitamin D /Calcium/Magnesium
โรคกระดูกพรุนน่ากลัวจริงหรือ?
โรคกระดูกพรุนหมายถึงการที่กระดูกของผู้ป่วยมีความหนาแน่นน้อยลงจนทำให้กระดูกเกิดการหักได้ง่าย การวินิจฉัยโรคใช้ข้อมูลจากประวัติ การตรวจร่างกายโดยละเอียด การตรวจเลือดและภาพถ่ายรังสีเพื่อการวินิจฉัยและการวินิฉัยแยกโรค
โดยเฉพาะการวินิจฉัยแยกโรคขาดวิตามินดี โรคขาดแคลเซี่ยม โรคมะเร็ง โรคของต่อมพาราไทรอยด์ และโรคที่เกิดร่วมอื่นๆ การตรวจร่างกายและการตรวจผลเลือดทั่วไปไม่พบความผิดปกติ ภาพถ่ายรังสีพบกระดูกบางลงกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณปลายการดูกแขนขา กระดูกข้อตะโพกและกระดูกสันหลัง กระดูกที่บางลงเกิดทั่วๆไป ไม่พบการทำลายกระดูก บริเวณกระดูกหักมีความทึบรังสีเพิ่มขึ้นจากการซ้อนตัวของกระดูก
การตรวจความหนาแน่นของกระดูกดังที่ได้เรียบเรียงไว้ดังข้างต้นนั้นมักพบว่าต่ำกว่าปกติ โดยพิจารณาจากค่า t score หากต่ำกว่าปกติแต่ยังสูงกว่า -2.5 ให้การวินิจฉัยเป็นโรคกระดูกบางแต่ถ้าค่าความหนาแน่นของกระดูกต่ำกว่า -2.5 ให้การวินิจฉัยเป็นโรคกระดูกพรุน การตรวจเลือดเพื่อสังเกตพัฒนาการและการทำงานของเซลกระดูกที่ช่วยการวินิจฉัยและตรวจการเปลี่ยนแปลงมีให้การรักษาได้แก่ การตรวจระดับ พาราไทรอยด์ฮอร์โมน การตรวจปริมาณ การสลายตัวของกระดูกหรือกระดูกถูกทำลายและการตรวจการสร้าง
โรคกระดูกพรุนนี้มักพบในผู้ป่วยหญิงวัยหลังหมดประจำเดือน รองลงมาเป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ในผู้ป่วยชายพบในผู้ที่ดื่มสุรามากเป็นประจำ การดำเนินโรคของผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมักเกิดมีกระดูกหัก ตามมาด้วยอาการปวด ความผิดรูปและอาการปวดเรื้อรัง แนวทางการดูแลรักษาควรจำแนกผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกหัก โดยใช้ผลการศึกษาของ OSTA (Osteoporosis Self-Assessment Tool for Asians) คำนวณจากสูตร 0.2 x (น้ำหนักตัว กก. – อายุ ปี) ได้เป็นดัชนีที่แสดงความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน หากได้ค่าน้อยกว่า – 4 ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูง หากอยู่ระหว่าง – 4 ถึง – 1 ผู้ป่วยมีความเสี่ยงปานกลาง หากได้ค่าสูงกว่า – 1 ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ำ
กระดูกพรุนแล้วเกิดอะไรขึ้น?
โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนในระยะแรกไม่มีความปวดถึงแม้กระดูกบางลงมาก แต่เมื่อผู้ป่วยเหล่านี้เกิดมีกระดูกหักขึ้น พบว่าผู้ป่วยมักมีอาการปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกสันหลังหักหรือทรุดตัว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังมากและมีอาการปวดเรื้อรังที่ไม่สามารถอธิบายด้วยลักษณะของการบาดเจ็บได้ทั้งหมด
ผู้ป่วยบางกลุ่มมีอาการชา อาการอ่อนแรงและมีความรู้สึกสัมผัสที่ผิดไปจากปกติ ตามมาด้วยอาการปวดเรื้อรังและโรคซึมเศร้า ความผิดปกติในด้านอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนและมีกระดูกหักนี้ จึงเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ นำมาซึ่งการศึกษาหาสาเหตุเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ดีขึ้น
สาเหตุความปวดในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนและมีกระดูกหักเกิดจาก
1) ความปวดจากการบาดเจ็บกระดูกหัก กระดูกหักทำให้เนื้อเยื่อต่างๆโดยรอบกระดูกบาดเจ็บ เกิดการตายของปลายกระดูก เยื่อหุ้มกระดูกและมักพบการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อโดยรอบกระดูก สิ่งเหล่านี้กระตุ้นปลายประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึก แล้วนำสัญญาณการกระดุ้นสู่ไขสันหลังขึ้นไปจนถึงสมอง และทำให้เกิดความปวด
2) ความปวดจากการอักเสบ กระดูกหักทำให้เกิดมีก้อนเลือดสะสมบริเวณกระดูกที่หัก ก้อนเลือดกระตุ้นเนื้อเยื่อโดยรอบทำให้เกิดการอักเสบ และในรายที่กระดูกหักผ่านข้อก็ทำให้ข้อข้างเคียงเกิดการอักเสบ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถให้การรักษาโดยการดึงกระดูกให้เข้าที่ได้อาจทำให้ข้อเสื่อมเร็วกว่าที่ควร มีผลทำให้เกิดความปวดเรื้อรัง
3) ความปวดจากเส้นประสาทถูกรบกวน หรือบาดเจ็บ กระดูกที่หัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกสันหลังที่หักอาจกดหรือรบกวนไขสันหลัง เส้นประสาท หรือรากประสาท ในระยะแรกเป็นการปวดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาท หากการกดหรือรบกวนเส้นประสาทไม่สามารถได้รับการแก้ไข อาจนำไปสู่กลุ่มอาการหรือโรคปวดเรื้อรังจากระบบประสาท ผู้ป่วยมีอาการปวดร่วมกับการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาท ดังเช่น ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนและมีกระดูกหักที่ส่วนปลายของกระดูกข้อมือ ที่มักเกิดกลุ่มอาการปวดมืเรื้อรังและข้อนิ้วติด และผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังหักจากโรคกระดูกพรุนอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หน้าอก หน้าท้องและขา ร่วมกับมีความผิดปกติในการรับความรู้สึกต่างๆตามที่พบในโรคปวดเรื้อรังจากระบบประสาท
ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนพบความผิดปกติในการประสานการทำงานระหว่างเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกระดูกกับเซลกระดูก
ในสภาวะปกติ ระบบประสาทควบคุมการทำงานของเซลต่างๆของกระดูก ในทางตรงข้ามเซลต่างๆของกระดูกป้อนข้อมูลให้ระบบประสาทผ่านทางเส้นประสาทที่เข้าไปเลี้ยงในกระดูก รูปร่างของเซลกระดูกเหมือนเซลประสาทและทำงานรับคำสั่งจากระบบประสาทผ่านเส้นประสาทที่มาสัมผัสโดยตรงกับเซลกระดูก ต่อจากนั้นเซลกระดูก osteocyte สั่งงานไปยังเซลทำลายกระดูก ให้ทำลายกระดูกที่บาดเจ็บเสียหายหรือไม่จำเป็นออก แล้วสั่งงานให้เซลสร้างกระดูกสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ มีหลักฐานเชื่อว่าเซลกระดูกเป็นเซลที่รับข้อมูลต่างๆจากกระดูกและสารละลายโดยรอบ แล้วส่งผ่านให้เส้นประสาทอีกที่หนึ่ง โดยทำให้เกิดความสมดุลขึ้น
ในผู้สูงอายุเซลกระดูกชราภาพลง เซลประสาทเพิ่มการทำงานมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่มากเกินไปและผนังเซลประสาทมีความไวมากขึ้น เมื่อเกิดการบาดเจ็บจากกระดูกหัก ก็อาจเกิดการตอบสนองของเซลประสาทอย่างรุนแรงผิดปกติ เป็นที่มาของโรคปวดเรื้อรังจากระบบประสาท
4) ความปวดจากกล้ามเนื้อที่เกิดจากการผิดรูปของกระดูกที่หัก ทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นโดยรอบต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้ร่างกายมีสมดุลที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้การที่กล้ามเนื้อและเอ็นต้องทำงานมากอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดและอาจทำให้กล้ามเนื้อ
เกิดการเสื่อมเกิดขึ้นเร็ว
การรักษาโรคกระดูกพรุนทำได้อย่างไรบ้าง?
การดูและรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีเป้าประสงค์ที่ป้องกันไม่ให้กระดูกหัก แนวทางการรักษาที่สำคัญได้แก่
1) การให้ความรู้เรื่องโรคกระดูกพรุนและหลักการรักษาที่ถูกต้อง
2) การแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้กระดูกหัก ทั้งในส่วนตัวและสภาพแวดล้อมที่บ้านและที่ทำงาน
3) การบริหารร่างกายอย่างถูกต้องเพื่อคงความแข็งแรงของกระดูก ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงสามารถประคับประคองระบบกระดูกได้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการฝึกการทำงานร่วมของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท เพื่อช่วยป้องกันการหกล้มหรือถ้าหกล้มผู้ป่วยก็อาจมี reflex ที่ดีขึ้นช่วยป้องกันการหกล้มที่รุนแรงและป้องกันกระดูกหัก
4) การใช้เครื่องช่วยการเดินและเครื่องรัด ดัดและพยุงร่างกายและบริเวณข้องของผู้ป่วย เพื่อเพิ่มความมั่นคง
5) การรับประทานอาการที่มีคุณค่าทางอาหารสูงอย่างสมส่วน แนะนำอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูงและควรให้แคลเซี่ยมในขนาดที่ให้เกิดการดูดซึมเป็นแคลเซี่ยมประมาณ 1000 มก.ต่อวันโดยรับประทานพร้อมอาหาร และให้วิตามิน โดยเฉพาะวิตามินดีเสริมขนาด 400 – 1200 หน่วยต่อวัน
6) การรักษาทางยา การใช้ยาขึ้นกับลักษณะอาการปวดและพยาธิวิทยาของการปวด ยาที่ให้แบ่งออกเป็น 3กลุ่ม คือ
6.1) ยาบรรเทาอาการปวดทั่วไป นิยมใช้ยาพาราเซตตามอล และยาต้านการอักเสบ โดยแพทย์พิจารณาเลือกยาตามความเหมาะสมแก่ผู้ป่วยในแต่ละราย ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอายุสูง มีโรคแทรก ซ้อนอื่นๆหลายโรค มีโอกาสเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายเมื่อ ใช้ยาต้านการอักเสบ นอกจากนี้ผู้ป่วยมักต้องรับประทานยาหลายอย่างอยู่แล้ว
6.2) ยาลดการทำลายกระดูกได้แก่
6.2.1) แคลซิโตนิน (Calcitonin)
6.2.2) บิสฟอสโฟเนตร์ส (Bisphosphonates)
6.2.3) เอสโตรเจน (Estrogen)
6.2.4) ราลอกซิเฟน (Raloxifene)
6.2.5) พาราไทรอยด์ฮอร์โมน (Parathyroid hormone)
6.2.6) วิตามิน เคสอง
6.2.7) วิตามินเค 2
6.3) ยาบรรเทาอาการปวดเรื้อรังจากระบบประสาท
ยาแต่ละขนานมีข้อบ่งชี้ที่ต่างกันไป ซึ่งขึ้นกับลักษณะการดำเนินของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีหลักการยับยั้งการทำลายกระดูก และส่งเสริมให้ร่างกายสร้างกระดูให้ดีขึ้น เพื่อให้ได้กระดูกที่แข็งแรง เนื้อกระดูหนาแนเนขึ้น โดนแพทย์ที่ดูแลพิจารณาจากการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดและการตรวจความหนาแน่นของกระดูก
7) การรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวด และกลับไปมีชีวิตดังเดิมให้ได้เร็วที่สุด ในผู้ป่วยที่กระดูกแขนท่อนล่างส่วนปลายหัก นิยมดึงกระดูกให้เข้าที่และดามด้วยเฝือก แล้วให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยเร็ว ในผู้ป่วยที่กระดูกบริเวณข้อตะโพกหัก นิยมให้การรักษาโดยการผ่าตัดดึงกระดูกให้เข้าที่และดามด้วยโลหะ โดยเลือกใช้โลหะดามกระดูกที่เหมาะสม สามารถยึดตรึงกระดูกที่บางได้ดี ในผู้ป่วยที่คอกระดูกต้นขาหัก แนะนำผ่าตัดเปลี่ยนเป็นข้อเทียม เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและผู้ป่วยสามารถกลับลุกนั่ง ยืนและเดินได้โดยเร็ว ในผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังหักและทรุดตัว ถ้ามีการเลื่อนตัวหรือทรุดตัวไม่มากสามารถให้การรักษาโดยอนุรักษ์นิยมได้ โดยการพักในระยะแรก ให้ยาบรรเทาอาการปวด ให้การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ร่วมกับการใช้เครื่องรัด ดัดและพยุงกระดูกสันหลัง แต่หากกระดูกทรุดตัวมาก หรือกระดูกที่หักไม่หากเองได้นิยมฉีดสารทดแทนกระดูกหรือซีเมนต์กระดูกเข้าที่บริเวณกระดูกหักเพื่อเชื่อมกระดูกสันหลังให้มีความสั่นคง ผู้ป่วยสามารถลุกขึ้นได้เร็ว หากกระดูกที่หักรบกวนไขสันหลังและ หรือเส้นประสาทอาจให้การผ่าตัดจัดกระดูกให้เข้าที่และดามด้วยโลหะร่วมกับการปลูกกระดูกในบริเวณที่หัก แล้วให้การรักษาทางยาและเวชศาสตร์ฟื้นฟูต่อไป
การป้องกันโรคกระดูกพรุนทำได้อย่างไรบ้าง?
การป้องกันโรคกระดูกพรุนย่อมต้องดีกว่าการรักษา คนเราควรได้รับแคลเซี่ยมในปริมาณที่เพียงพอตั้งแต่วัยเด็กและหนุ่มสาว ควรหลีกเลี่ยงอาหารและสารที่ทำให้เกิดการทำลายกระดูกหรือทำให้ร่างกายขับแคลเซี่ยมออกจากร่างกายมาก เช่น การดื่มน้ำอัดลม การดื่มการแฟวันละหลายแก้ว และการดื่มสุราเป็นประจำ ควรออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยและรูปร่าง การได้รับแสงแดดที่เหมาะสม การรักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติ หากมีปัญหาควรรีบปรึกษาแพทย์
กระดูกพรุนเป็นภาวะที่มีเนื้อกระดูกบางลงจากการสูญเสียมวลกระดูก ซึ่งจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมูล โดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการแสดงจนกว่าจะเกิดกระดูกหักขึ้นซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน ได้แก่
- สูงอายุ
- เพศหญิง
- ชาติพันธุ์ผิวขาว และเอเชีย
- มีภาวะหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
- โครงสร้างร่างกายผอมบางและดัชนีมวลกายต่ำ
- พันธุกรรม
- บริโภคแคลเซียมไม่เพียงพอ
- ขาดการออกกำลังกาย
- สูบบุหรี่ ดื่มสุรา คาเฟอีน เป็นประจำ
ดังนั้น การคัดกรองด้วย Osteoporosis Self-Assessment Tool for Asians (OSTA) เป็นการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน โดยคำนวณจากอายุ และน้ำหนักตัว เพื่อตรวจหาระดับความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกพรุน และสามารถรักษาตลอดจนปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต
การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก คืออะไร?
การตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก เป็นการตรวจสุขภาพของกระดูกว่าอยู่ในระดับปกติดีหรือเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ โดยใช้เครื่องตรวจ DEXA Scan ซึ่งเป็นเครื่องตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกที่ได้มาตรฐานที่สุดในปัจจุบัน ใช้ในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
ความหนาแน่นของมวลกระดูก
ความหนาแน่นของมวลกระดูก หากมีปริมาณลดลงจะทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะกระดูกหักได้ง่าย การลดลงของงมวลกระดูกนั้น โดยปกติจะค่อยลดน้อยลงไปตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชาย และซึ่งผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงหลังช่วงวัยหมดประจำเดือน รวมทั้งสาเหตุอื่น เช่น มีประวัติกระดูกเปราะหักง่าย การทานยาบางกลุ่มติดต่อกันเป็นเวลานาน ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือมีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เป็นต้น
สิ่งที่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับบริการ
- มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ใส่เหล็กดามกระดูก ข้อสะโพกเทียม เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นต้น
- สงสัยว่ามีการตั้งครรภ์
- มีประวัติการรักษาด้วยการกลืนแร่ หรือฉีดสารทึบแสงเพื่อการวินิจฉัยโรค
อาการ
ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนมักทราบเมื่อมีอาการออกมาแล้ว แต่ก็มีอาการบ่งชี้ที่สามารถสังเกตเพื่อให้รับการรักษาได้แต่เนิ่นๆ และยังมีอาการบ่งชี้อื่นๆ ที่ควรใส่ใจสังเกต เพื่อให้สามารถรักษาได้ทัน
- กระดูกข้อมือ แขน สะโพก และกระดูกสันหลังแตกหักได้ง่าย แม้ถูกกระแทกแบบไม่รุนแรง
- หลังค่อม หรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งลง
- ความสูงลดลง
- อาจมีอาการปวดหลังเรื้อรังด้วย
การตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก มีข้อดีอย่างไร?
- ทำให้ทราบว่ากระดูกยังมีความหนาแน่นปกติดี หรือมีภาวะกระดูกพรุน จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือเสริมสร้างกระดูกอย่างไรหรือไม่
- หลังจากตรวจ จะได้ทราบวิธีปฏิบัติตัวที่เหมาะสม หรือสิ่งที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
ภาวะกระดูกพรุน
ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่มวลกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง แตกหักได้ง่าย แม้อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย เป็นอีกหนึ่งภาวะที่ไร้สัญญาณเตือน ส่วนใหญ่จะทราบได้ก็ต่อเมื่อกระดูกหักไปแล้ว เป็นโรคที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงในช่วง 5 ปีแรกหลังหมดประจำเดือนเพราะสูญเสียมวลกระดูกเทียบเท่ากับผู้ชายที่มีอายุมากกว่าราว 5-10 ปีเลยทีเดียว ซึ่งบริเวณที่พบกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย ได้แก่ บริเวณกระดูกข้อมือ กระดูกหลัง และกระดูกสะโพก
ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรอง
– ผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือ ผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไป
– ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
– ผู้หญิงที่เคยได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ก่อน(วัย)หมดประจำเดือน
– ผู้ที่มีประวัติเคยกระดูกหัก
– ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณหลัง เอว ข้อมือ
– ผู้ที่มีลักษณะทางกายภาพของโครงร่างเปลี่ยนไป เช่น หลังโก่ง ไหล่งุ้ม หรือเตี้ยลง