ภาวะ “แพ้ยาสลบ” (Malignant Hyperthermia) ภาวะไข้สูงอย่างรุนแรงที่เสี่ยงต่อการเสียงชีวิตได้

0
855

ภาวะ แพ้ยาสลบ (Malignant Hyperthermia) ภาวะไข้สูงอย่างรุนแรงที่เกิดจากการตอบสนองต่อยาสลบที่ผิดปกติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง

ภาวะ แพ้ยาสลบ คืออะไร?

ภาวะแพ้ยาสลบ หมายถึงภาวะไข้สูงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายตอบสนองต่อยาสลบที่ผิดปกติ โดยในทางการแพทย์เรียกว่า Malignant Hyperthermia (MH) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการควบคุมแคลเซียมบริเวณกล้ามเนื้อลาย

ซึ่งเกิดจากภาวะเมตาบอลิซึมที่สูงมากจากการได้รับสารกระตุ้นเช่น ยาดมสลบ หรือยาหย่อนกล้ามเนื้อบางชนิด โดยจะพบได้เฉพาะคนที่มียีนทางพันธุกรรมที่ผิดปกติเท่านั้น โอกาสของการเกิดแพ้ยาสลบน้อยมากประมาณ 1 ใน 200,000 หรือ 0.0005% แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วความรุนแรงนั้นนับได้ว่ามีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก

การวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ทำได้โดยวิธีเฉพาะที่เรียกว่า caffeine halothane contracture test เป็นการตัดชิ้นกล้ามเนื้อลายไปทดสอบกับยาสลบ เป็นวิธีตามมาตรฐาน แต่ยังมีข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย หรืออีกอย่างหนึ่งคือตรวจ DNA จากการเจาะเลือดไปหายีน RYR1 ที่สงสัยว่าผิดปกติได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องของความไวในการตรวจพบได้ และถ้าไม่ได้ตรวจพิเศษดังกล่าวจะทราบได้อย่างไรว่าตัวเองจะมีความผิดปกติดังกล่าวซ่อนอยู่หรือไม่

อาการของภาวะ แพ้ยาสลบ

อาการของภาวะนี้มักเกิดขึ้นภายในชั่วโมงแรกหลังจากได้รับยาสลบ แต่ในบางรายอาจปรากฏอาการขึ้นภายใน 12 ชั่วโมงหลังจากนั้น โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้
  • มีไข้สูงอย่างรวดเร็ว โดยอาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการตัวแดงหรือเหงื่อออกร่วมด้วย
  • ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อแข็งเกร็งหรือกระตุกอย่างรุนแรง
  • หัวใจเต้นรัวหรือเต้นผิดจังหวะ
  • ผิวเขียวคล้ำ
  • หายใจติดขัด หายใจเร็ว หรือหายใจหอบ
  • มีเลือดออกผิดปกติหรือเลือดหยุดไหลช้า
  • ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย ปัสสาวะมีสีดำปนน้ำตาลเข้มคล้ายสีโค้ก
  • ความดันโลหิตลดต่ำลงจนอาจช็อกและเสียชีวิตได้

วิธีการรักษาภาวะแพ้ยาสลบ

หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าว แพทย์จะหยุดการใช้ยาสลบและการผ่าตัดทันที จากนั้นแพทย์อาจให้ยาแดนโทรลีน (Dantrolene) เพื่อคลายกล้ามเนื้อ และลดอุณหภูมิร่างกายลงด้วยการใช้แผ่นประคบเย็น ผ้าห่มไฟฟ้าเย็น (Cold Blanket) พัดลม เครื่องปรับอากาศ และฉีดสารน้ำเข้าเส้นเลือดดำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้ภายใน 12 – 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาอื่น ๆ รักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาความดัน ยาควบคุมกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

อาการที่รุนแรงและการรักษาที่ไม่ทันท่วงทีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
  • ตัดแขน ขา หรืออวัยวะส่วนที่เกิดความผิดปกติ
  • เซลล์กล้ามเนื้อเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้
  • มือและเท้าบวมจากภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูง (Compartment Syndrome)
  • ไตวายและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
  • เสียชีวิต

วิธีป้องกันภาวะแพ้ยาสลบ

  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการแพ้ยาหรือโรคที่เคยมี
  • ต้องระบุถึงประวัติคนในครอบครัวที่มีประวัติของโรคแพ้ยาสลบ
  • การผ่าตัดที่มีการใช้ยาสลบจำเป็นต้องระวังความเสี่ยง และจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนทำการผ่าตัด
  • หากมีความเสี่ยง คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการป้องกันและการรักษาที่เหมาะสม

สรุปภาวะ แพ้ยาสลบ

แพ้ยาสลบเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก ดังนั้นคุณควรปฏิบัติตามวิธีการป้องกันที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และหากมีอาการของแพ้ยาสลบต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

บทความอื่นๆ

ติดต่อสยามคลินิกภูเก็ต

บทความก่อนหน้านี้“นอนกรน” เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับโดยไม่รู้ตัว อันตรายถึงชีวิต!
บทความถัดไปเรสเวอราทรอล Resveratrol คืออะไร