โรคไข้เหลือง (Yellow fever) คืออะไร

0
2801

ไข้เหลืองคืออะไร ความรู้เกี่ยวกับไข้เหลือง

โรคไข้เหลือง (yellow fever) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเฉียบพลัน เป็นโรคประจำถิ่นในภูมิภาคทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ ถือว่าเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อโบราณเก่าแก่ที่มนุษย์รู้จักดีมาหลายร้อยปีแล้ว อัตราการเสียชีวิตสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโรคไข้เหลืองและมีอาการถือว่าสูง แต่เป็นโรคที่มีการป้องกันด้วยวัคซีนที่ได้ผลเป็นอย่างดี

เนื่องด้วยจุดหมายปลายทางในพื้นที่แหล่งรังโรคเป็นสถานที่ๆมีความน่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น การไปซาฟารีในทวีปแอฟริกา หรือการไปมาชูพิคชู สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในอเมริกาใต้ ล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้เหลืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบทความนี้ผมจึงจะขออธิบายสั้นๆว่าไข้เหลืองเกี่ยวข้องกับนักเดินทางอย่างไร

ท่านสามารถอ่านบทความก่อนหน้าเกี่ยวกับ


อาการของผู้ที่ติด โรคไข้เหลือง

พาหะนำโรคไข้เหลือง

คือ ยุงลาย (Aedes) ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับที่มีในเมืองไทย หลังจากเราถูกยุงที่มีเชื้อกัดแล้ว ไวรัสจะเดินเข้าสู่กระแสเลือดภายในร่างกาย และเริ่มแบ่งตัวฟักตัวอีกประมาณ 3-6 วัน (Incubation period) ก่อนที่เราจะเริ่มมีอาการแสดงของโรค โดยอาการของโรคจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะดังนี้

ช่วงแรกของการติดเชื้อ โรคไข้เหลือง

ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปวดบริเวณหลัง ปวดศีรษะรุนแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาการต่างๆ ในช่วงแรกนี้จะกินเวลา 3-4 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงในช่วงระยะแรกเท่านั้นและอาการจะหายไปได้เอง มีเพียงส่วนน้อยที่อาการจะรุ่นแรงเข้าสู่ระยะที่สอง

ระยะที่สองของการติดเชื้อ โรคไข้เหลือง (Toxic phase)

เรียกว่า ระยะเป็นพิษ (Toxic phase) ผู้ป่วยกลับมามีไข้สูงขึ้นมาอีกครั้งภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่ผ่านพ้นอาการช่วงแรกมา หลังจากนั้นจะมี อาการตาเหลืองตัวเหลือง (ซึ่งเป็นสาเหตุของชื่อโรค) ผู้ป่วยจะปวดท้อง และอาเจียนอย่างมาก ในระยะต่อมา ผู้ป่วยจะมีเลือดออกทางปาก ทางจมูก อาจมีอาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ผู้ป่วยมักเสียชีวิตเนื่องจากตับวาย และไตวาย ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะที่สองจำนวนประมาณ 50% จะเสียชีวิต ภายใน 10-14 วัน


ความเสี่ยงของโรคไข้เหลืองในนักเดินทาง (ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน)

เนื่องด้วยโรคไข้เหลืองเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และวัคซีนถือว่ามีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงที่ต่ำ การฉีดวัคซีนก่อนเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยที่แสดงถึงความเสี่ยงของการเป็นโรคไข้เหลืองในผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเอาไว้ให้เปรียบเทียบ ดังนี้

นักท่องเที่ยวที่เดินทางในแอฟริกาตะวันตก (West Africa) 2 สัปดาห์

  • มีความเสี่ยงที่จะติดไข้เหลือง 50 ต่อ 100,000
  • มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากไข้เหลือง 10 ต่อ 100,000

นักท่องเที่ยวที่เดินทางในอเมริกาใต้ (South America) 2 สัปดาห์

  • มีความเสี่ยงที่จะติดไข้เหลือง 5 ต่อ 100,000
  • มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากไข้เหลือง 1 ต่อ 100,000

ประเทศไหนถือว่าเป็นเขตติดต่อ โรคไข้เหลือง

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ประกาศรายชื่อประเทศหรือดินแดนที่เป็นเขตระบาดของโรคไข้เหลือง ทั้งหมด 42 ประเทศ ดังนี้

***ภาพในแผนที่ด้านล่างเป็นข้อมูลของทางกรมควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา (US CDC) ซึ่งข้อมูลบางส่วนอาจจะไม่ตรงกับของทางกระทรวงสาธารณสุขของประเศไทยครับ***

ทวีปอเมริกาใต้ (South America) 13 ประเทศ

ดูคำแนะนำสำหรับการเตรียมตัวด้านสุขภาพสำหรับนักเดินทางที่ไปยังทวีปอเมริกาใต้ได้ที่นี่

  • บราซิล (Brazil)
  • โบลิเวีย (Bolivia)
  • เปรู (Peru)
  • เอกวาดอร์ (Ecuador)
  • กายอานา (Guyana)
  • เฟรนซ์เกียนา (French-Guiana)
  • ปานามา (Panama)
  • โคลอมเบีย (Colombia)
  • เวเนซูเอลา(Venezuela)
  • ซูรินาเม (Suriname)
  • ตรินิแดดแอนด์โตเบโก (Trinidad and Tobago)
  • อาร์เจนตินา (Argentina)
  • ปารากวัย (Paraguay)

ทวีปแอฟริกา (Africa) 29 ประเทศ

ดูคำแนะนำสำหรับการเตรียมตัวด้านสุขภาพสำหรับนักเดินทางที่ไปยังทวีปแอฟริกาได้ที่นี่

  • แองโกล่า (Angola)
  • เบนิน (Benin)
  • บูร์กินาฟาโซ (Burkina-Faso)
  • บุรุนดิ (Burundi)
  • แคเมอรูน (Cameroon)
  • สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic)
  • สาธารณรัฐคองโก (Republic of Congo)
  • โกตดิวัวร์ (Cote D’Ivoire)
  • เอธิโอเปีย (Ethiopia)
  • แกมเบีย (Gambia)
  • กาบอง (Gabon)
  • กานา (Ghana)
  • กินี (Guinea)
  • กินีบิสเซา (Guinea-Bissau)
  • อิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea)
  • เคนยา (Kenya)
  • ไลบีเรีย (Liberia)
  • มาลี (Mali)
  • มอริเตเนีย (Mauritania)
  • เซเนกัล (Senegal)
  • เซียร์ราลิโอน (Sierra Leone)
  • โซมาเลีย (Somalia)
  • ซูดาน (Sudan)
  • ชาด (Chad)
  • โตโก (Togo)
  • อูกันดา (Uganda)
  • สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo)
  • ไนเจอร์ (Niger)
  • ไนจีเรีย(Nigeria)

วิธีการป้องกัน โรคไข้เหลือง

ท่านสามารถอ่านบทความก่อนหน้าเกี่ยวกับ


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สยามคลินิกภูเก็ต

บทความก่อนหน้านี้ประกันการเดินทาง กับเรื่องต้องรู้ของนักเดินทาง
บทความถัดไปเที่ยวแอฟริกา ต้องฉีดวัคซีนตัวไหน การเตรียมตัวไปอย่างปลอดภัย